ReadyPlanet.com
เนรมิตพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าถวาย "ในหลวง" บริเวณเทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

 

เนรมิตพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าถวาย "ในหลวง" บริเวณเทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

เนื่องจากเป็นปีที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปีในปีมหามงคลนี้ องค์การพิพิธภัณฑ์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงถือเป็นฤกษ์สำคัญ ดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด– ล้อมที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งนี้ จะถูกเนรมิตขึ้นบนเนื้อที่ 42 ไร่ หรือ 30,000 ตารางเมตร บริเวณเทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี บริเวณพื้นที่เชื่อมต่อกับสระเก็บน้ำพระรามเก้า ที่มีพื้นที่ประมาณ 2,800 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริด้านบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ

“พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” หรือ “พิพิธภัณฑ์รัชกาล 9” จึงนับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียและใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก

โดย “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” หรือ “พิพิธภัณฑ์รัชกาล 9” เป็นโครงการต่อเนื่อง ที่จะจัดสร้างเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,890 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2557 ในการดำเนินการก่อสร้างภายใต้หัวข้อหลักในการนำเสนอ คือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักการคิด วิธีการทรงงานและกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงนำไปแก้ปัญหาหรือพระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ และเพื่อให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศของโลกและประเทศไทย

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานบอร์ด อพวช. กล่าวว่า การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า มีเหตุผลอยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ คือ 1.โครงการนี้มีการคิดมานานกว่า 20 ปี เนื่องจากเราเชื่อว่าโลกไม่มีอาณาเขต สิ่งแวดล้อมของไทยสามารถกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของขั้วโลกเหนือได้ หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำอะไรที่ประเทศหนึ่ง สามารถเกิดผลกระทบทั้งโลกได้

เหตุผลข้อต่อมาคือช่วงหลังเรามองเห็นว่าโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ ภัยพิบัติก็แรงขึ้นเรื่อยๆ และคิดว่าสิ่งแวดล้อมจะช่วยได้หรือไม่ ถึงแม้จะพบว่าไม่มีทางช่วยได้แต่สามารถบรรเทาให้มันเบาลงได้ เพราะองค์ความรู้ต่างๆนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและปรับตัวเองให้สามารถอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้

และสุดท้ายมองว่าพิพิธภัณฑ์อยู่ติดบึงพระรามเก้า ซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่และลึกมากสามารถรับน้ำได้มาก โดยน้ำจาก จ.พระนครศรี– อยุธยา จะไหลมาพักที่บึงแห่งนี้ก่อนระบายลงสู่ทะเล เป็นโครงการพระราชดำริของในหลวง คือ การแก้ไขสิ่งแวดล้อมประเภทหนึ่ง ทำให้คิดว่าควรมีการสร้างพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์นี้จึงเป็นของในหลวงและใช้ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เนื่องจากอยู่ติดบึงพระรามเก้า

“ที่สำคัญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเคยเสด็จทรงงานและทอดพระเนตรแบบจำลองพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ทรงสนพระทัยรวมทั้งมีพระราช ดำรัสว่าภายในพิพิธภัณฑ์ควรมีเนื้อหาการจัดในรูปแบบ “จากยอดเขาถึงท้องทะเล” คือ ทรงอยากให้จัดแสดงสิ่งแวดล้อมไทย ได้แก่ ภูเขา ทะเล แม่น้ำ ดิน ต้นไม้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของจริงทั้งหมดให้ผู้คนทั้งอาเซียนหรือเออีซีรวมทั้งเด็ก ไทยที่อยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศได้มาเห็นการเชื่อมโยงกันของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไทย ตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ท้องทะเลว่าเป็นอย่างไรในสถานที่นี้ที่เดียว” รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าว

สำหรับรูปแบบโครงสร้างในพิพิธภัณฑ์พระรามเก้านั้น นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รักษาการ ผอ.อพวช. อธิบายว่า พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เป็นสถานที่ที่นำเสนอแนวความคิดว่า เราในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จะสร้างสมดุลของการอยู่ร่วมกันกับทุกชีวิตบนโลกนี้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ดังนั้น เรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ทำการร้อยเรียงความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความสมดุลของชีวิตบนโลก นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของจักรวาลซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่ง มาจนถึงการก่อตัวของดาวเคราะห์ที่เรียกว่า โลก การเกิดขึ้นของเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อการเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตทั้งแสง อุณหภูมิ ชั้นบรรยากาศ ภูมิประเทศ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงภายในและระหว่างชีวนิเวศหลักจากเหนือสุดไปยังใต้สุด ได้แก่ เขตขั้วโลก เขตทันดร้า เขตไทก้า เขตอบอุ่น เขตทะเลทรายและเขตศูนย์สูตร

“การเรียงร้อยเรื่องราวดังกล่าวดำเนินอยู่บนแกนความคิดซึ่งถอดมาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานองค์ความรู้อันพัฒนาขึ้นบนกระบวนทรรศน์แบบวิทยาศาสตร์ วิธีในการศึกษามนุษย์ สิ่งแวดล้อมและแนว ทางในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนซึ่งผู้ชมจะได้เรียนรู้ภายในห้องจัดแสดงหลักที่ถือเป็นหัวใจของพิพิธภัณฑ์” นายสาคร กล่าว
 

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า แบ่งเป็น 5 โซน สำหรับการจัดแสดง ได้แก่

โซนที่ 1 โลกและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้ผู้ชมมีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องภูมิหลังเกี่ยวกับโลกและการปรับตัวของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในอดีตและตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิตต่างปรับตัวและมีวิวัฒนาการสอดรับกันไปการปรับตัวจึงเกิดขึ้นในบริบทของสิ่งแวดล้อมเสมอ

โซนที่ 2 ระบบนิเวศและความสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจกลไกการทำงานและความสัมพันธ์เชื่อมโยงของระบบนิเวศของโลกและระบบนิเวศในส่วนย่อยของโลก และได้สัมผัสความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเกิดจากการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในระบบนิเวศที่สำคัญของโลก โซนนี้จำลองระบบนิเวศของเขตขั้วโลก มีขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ เขตทันดร้า เขตไทก้า การแสดงระบบนิเวศของป่าเขตอบอุ่น ระบบนิเวศเขตร้อนเอเชีย ซึ่งใช้ระบบ 4D ให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนเข้ามาผจญภัยจริงๆด้วย

 
โซนที่ 3 การจัดการน้ำ คุณสมบัติของน้ำ รู้คุณค่า รู้จักใช้ และรู้จักอนุรักษ์น้ำ รู้ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของน้ำและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โซนที่ 4 การจัดการดิน การกำเนิดของดินในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก และรู้คุณค่า รู้จักใช้ และรู้จักการอนุรักษ์ดิน
 

โซนที่ 5 หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงถึงหลักการทรงงาน พระวิสัยทัศน์ และกระบวนการศึกษาปัญหาในธรรมชาติอันเป็นที่มาของโครงการในพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ และสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์อันเป็นประโยชน์ และเพื่อให้ผู้ชมรับทราบถึงการเฉลิมพระเกียรติจากหน่วยงานต่างๆทั่วโลกต่อโครงการในพระราชดำริ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการยอมรับในพระปรีชาสามารถและผลประโยชน์ของโครงการต่อภูมิภาคต่างๆทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

 
“คอนเซปต์โซนใหญ่ในพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า คือนิทรรศการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะนำงานของพระองค์ท่านที่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาจัดแสดง ซึ่งการแสดงพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติในหลวงนั้น ถ้านำทั้งประเทศมารวมกันถือว่าใหญ่ที่สุดแล้ว ด้วยการจัดทำในรูปแบบของบอร์ดจัดแสดงว่ามีโครงการพระราชดำริอะไรบ้าง เช่น โครงการห้วยฮ่องไคร้ มีประชากรได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง เราจึงมีโจทย์ขึ้นมาว่าทำอย่างไรจึงจะให้เกิดห้วยฮ่องไคร้ขึ้นในสถานที่อื่นๆอีก 20 แห่ง และก็สามารถตอบโจทย์ได้ ยกตัวอย่างเช่น นำโครงการห้วยฮ่องไคร้มาแสดงแต่จะนำเสนอว่าในหลวงทรงคิดอย่างไรจึงมาเป็นโครงการนี้ และพระองค์นำหลักทางวิทยาศาสตร์มาใช้อย่างไร ไม่ใช่นำเสนอว่าในหลวงทรงทำอะไร” นายสาครระบุในตอนหนึ่ง

ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเสด็จวางศิลาฤกษ์พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ในวันที่ 18 ส.ค.2559

โดยพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า จะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 ปี คือสามารถใช้งานได้ในปี 2561

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวบรวมนำเสนอข้อมูลทรัพยากรน้ำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการจัดแสดงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ ที่จะทำให้พื้นที่บริเวณเทคโนธานีเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สำคัญที่สุดคือเป็นการ แสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของปวงชนชาวไทยและแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และได้รับการถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยชาติ” จากสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ.

แหล่งข่าว ไทยรัฐ



เรื่องน่าสนใจ

ศูนย์บริการภาครัฐครบวรจร จังหวัดปทุมธานี
จังหวัดปทุมธานีสร้างหอบัวเฉลิมพระเกียรติฯ 60 พรรษา
สดุดี โค้ชแต๊ก ชายผู้ทระนง บนถนนสายลูกหนัง
ยักษ์ค้าปลีกกางแผนรบชิง"รังสิต" เซ็นทรัลทุ่ม1.3หมื่นล.จัดทัพใหญ่ปั้น"The M"เขย่า
เกาะติดรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ดีเลย์ 2 ปี จะเสร็จในปี 2562 จากเดิมปี 2560
3 บิ๊กแบรนด์ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ย่านรังสิต
พญาไทเปาโล เปิดเกมรุกปักธงย่านรังสิตเช่าที่ดินงามตระกูลหวั่งหลี ผุด ร.พ.150 เตียงติดฟิวเจอร์
เมืองไทยพร้อมหรือยังสถานบำบัด เด็กติดเน็ต ติดเกมส์ออนไลน์
ไล่ทุบซากตอม่อ "โฮปเวลล์" รับรถไฟฟ้าสายใหม่ "บางซื่อ-รังสิต"
'บ้านร้างเมืองเอก'ทำชาวบ้านระอาเสียงมอเตอร์ไซค์วัยรุ่นลองของ
รวมแบบการ์ดปีใหม่อวยพร 2014
ธุรกิจซีเคียวริตี้เมืองปทุมงานล้นมือ ผู้ประกอบการโอดรปภ.หายากทุ่มเพิ่มค่าจ้าง 500
สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2556 ทั่วประเทศ
บทสวดมนต์ข้ามปี
โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมรังสิต-ปทุมธานี-บรรจบวงแหวนตะวันตก และสะพานปทุมธานี 3
ความเป็นมาการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย article
แม่พิมพ์ของชาติวัย 71ปี สะสมภาพ "ในหลวง" มากว่า 40 ปี ลาดหลุมแก้ว
พอล วิลเลียม วอล์กเกอร์ article
คุณภาพชีวิตประชากรเด็กปทุมธานี
เป็นทาสกันตลอดชีวิต พ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อ ๆ กันเรื่อยไป
วงล้อฟอลเคิร์ก เป็นลิฟต์เรือ ที่ตั้งชื่อตามเมือง Falkirk ในสกอตแลนด์
ออสเตรีย จัดการน้ำท่วมขั้นเทพ แม้จะท่วมสูงสุดในรอบ 10 ปีก็ไม่หวั่น