ไม่ใช่วัยรุ่น ฮอร์โมนก็ป่วนได้นะ ! (Lisa) อาการ ฮอร์โมนไม่ปกติจนส่งผลไปถึงทั้งอารมณ์และร่างกายเกิดขึ้นได้เสมอนั่นแหละ ไม่ใช่แค่ตอนที่คุณเป็นวัยรุ่นว้าวุ่น หรือกำลังจะเป็นคุณแม่หรอกนะ...ฮอร์โมนตัวไหนส่งผลยังไง แล้วจะดูแลยังไง Lisa มีคำตอบ ถ้า คุณรู้สึกว่าร่างกายตัวเองเริ่มไม่ปกติ ไม่สดชื่น อ่อนเพลีย นอนหลับยาก หงุดหงิดง่าย ไปจนถึงเจ็บปวดตามข้อต่อและกล้ามเนื้อ แต่ตรวจสุขภาพก็ไม่พบโรคอะไร นพ.ชัยพร นันทรัตนสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนและสูตินรี สถาบันการแพทย์ผสมผสานตรัยยา รพ.ปิยะเวท ชี้ว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าฮอร์โมนของคุณไม่สมดุลซะแล้ว "ฮอร์โมนก็คือ Cell Stimulator หรือสารที่เข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ทำงานแต่ละตัวก็จะมีหน้าที่ต่างกันออกไป แต่ไม่มีตัวไหนเป็นพระเอก หรือตัวไหนเป็นผู้ร้าย ทุกตัวต้องทำงานร่วมกัน ประสานกันเหมือนเป็นวงดนตรี ถ้าเข้ากันได้อย่างสมดุลเพลงก็จะไพเราะ แต่ถ้าเมื่อไรมีตัวไหนมาก-น้อยเกินไป ความไม่ปกติก็จะมาเยือน พอนานวันไปสัก 5-10 ปี ก็จะป่วยเป็นโรคต่าง ๆ นานา"
Cortisol ฮอร์โมนตัวร้าย แต่ก็ขาดไม่ได้นะ สาว ๆ น่าจะรู้จักฮอร์โมนตัวนี้ในฐานะของตัวร้ายที่จะดึงดูดไขมันไปสะสมเป็นห่วงยางรอบเอว แต่ที่จริง "คอร์ติซอล" เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายจะหลั่งออกมาเมื่อคุณเครียด ไม่ว่าจะเป็นความเครียดทางร่างกายหรือจิตใจ มีฤทธิ์ประมาณ 100 นาที โดยจะไปหยุดการทำงานของฮอร์โมนอื่นทุกตัวดึงเอาแป้งและน้ำตาลออกมาใช้ ทำให้ร่างกายใช้พลังงานได้อย่างเต็มที่ แต่ก็จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากกินของหวาน ๆ ขึ้นมารุนแรงเช่นเดียวกัน ดูแลให้สมดุล : ฮอร์โมนตัวนี้จะหลั่งออกมาเพราะความเครียด หากไม่อยากให้ร่างกายมีคอร์ติซอลมากจนเกินไปก็ต้องจัดการความเครียดให้ดี อาจจะออกกำลังกาย เล่นกีฬา ไปนวด ทำสปาก็ตาม แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน Note : อย่า เพิ่งมองฮอร์โมนตัวนี้ในแง่ร้ายไปซะหมด ข้อดีของคอร์ติซอลคือฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นให้คุณตื่นตัว กระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด และว่ากันว่าที่คนสามารถแบกของหนักวิ่งได้เวลาตกใจมาก ๆ ก็เพราะการกระตุ้นจากคอร์ติซอลนี่แหละ
Internal Growth Hormone ตัวช่วยเพื่อความอ่อนเยาว์ ฮอร์โมน ตัวนี้จะหลั่งมากในช่วงที่คุณเป็นเด็ก เพื่อให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมบูรณ์ (โดยเฉพาะในเรื่องความสูง) แต่แม้จะพ้นวัยเด็กมาแล้ว ร่างกายของคุณก็ยังมีการหลั่งโกรว์ธฮอร์โมนอยู่เรื่อย ๆ ถ้าอยากหน้าเด็ก และดูอ่อนกว่าวัยล่ะก็ต้องใส่ใจฮอร์โมนตัวนี้ให้ดี เพราะหน้าที่อีกอย่างของโกรว์ธฮอร์โมนก็คือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอชะลอความเสื่อมและความแก่นั่นเอง ดูแลให้สมดุล : ช่วงเวลาสี่ทุ่มครึ่งถึงห้าทุ่ม เป็นช่วงที่ร่างกายจะหลั่งโกรว์ธฮอร์โมนออกมามากที่สุด แต่มีข้อแม้ว่าคุณต้องอยู่ในภาวะหลับสนิทด้วย และจะมีการหลั่งออกมาอีกเล็กน้อยในช่วงประมาณตีสี่ครึ่ง ถ้าอยากรักษาสมดุลโกรว์ธฮอร์โมนก็ต้องเข้านอนแต่หัวค่ำนั่นเอง Note : ช่วง เวลาการหลั่งของโกรว์ธฮอร์โมนคือเหตุผลว่าทำไมคุณถึงมักจะง่วงนอนในช่วง ประมาณสามทุ่มครึ่ง แต่หากคุณฝืนไม่ยอมนอนก็จะตาสว่างไปอีกพักใหญ่ เพราะร่างกายก็จะหลั่งคอร์ติซอลออกมาแทน ทำให้คุณทั้งหิวและอ้วนเมื่อนอนดึก
Estrogen & Progesterone ฮอร์โมนของสาว ๆ ฮอร์โมน เพศหญิงสองตัวนี้จะทำให้ร่างกายคุณมีลักษณะของเพศหญิง มีประจำเดือน และยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนประเภทที่ 1 ซึ่งมีอยู่ในกระดูก เส้นเอ็น ไปจนถึงแขนขาของเซลล์ประสาทฮอร์โมนทั้งสองจะลดลงมากในวัยหมดประจำเดือน ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ ความทรงจำ อารมณ์พลุ่งพล่าน เพราะสารสื่อประสาทที่เพี้ยนไป ตลอดจนความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจด้วย ดูแลให้สมดุล : พักผ่อนให้เพียงพอ และกินถั่วเหลืองที่มีสารซึ่งมีโครงสร้างใกล้เคียงกับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่หากมีอาการผิดปกติ หรือเข้าวัยหมดประจำเดือน คุณอาจต้องดื่มน้ำเต้าหู้เข้มข้นสูงถึงวันละ 6.5 ลิตร การกินฮอร์โมนเสริมจึงเป็นทางเลือกที่ดี แต่ต้องเลือกฮอร์โมนในรูปของธรรมชาติ และอยู่ในการดูแลของแพทย์ Note : ระวัง การกินฮอร์โมนที่เป็นสารสังเคราะห์ เพราะจแรงกว่าฮอร์โมนตามธรรมชาติถึง 10 เท่า ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะขับส่วนเกินออกจากร่างกายจนหมด อาจตกค้างและเป็นสาเหตุของเนื้องอกได้
DHEA ฮอร์โมนแห่งชีวิต เคยมีงานวิจัยเก่า ๆ ระบุว่า ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตตัวนี้ถือเป็นฮอร์โมนแห่งชีวิต เมื่อไรที่ฮอร์โมนตัวนี้เข้าใกล้ศูนย์ แสดงว่าสุขภาพคุณอยู่ในภาวะอันตราย แต่เดี๋ยวนี้เราค้นพบว่า DHEA เป็นตัวที่ไปหยุดยั้งการทำงานของฮอร์โมนคอร์ติซอล ซัพพอร์ตการทำงานของเอสโตรเจนและไทรอยด์ฮอร์โมน คอยดึงไขมันไปเผาผลาญ กระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราดี ดังนั้น เมื่อต่อมหมวกไตล้า การผลิต DHEA ก็จะลดลง ร่างกายจึงรวนไปหมดนั่นเอง ดูแลให้สมดุล : การพักผ่อนให้เพียงพอเป็นวิธีการดูแลความแข็งแรงของต่อมหมวกไตที่ดีที่สุด เพราะเมื่อคุณไม่ยอมนอน ต่อมนี้ก็จะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา และยังต้องผลิต DHEA มายังยั้งอีก ทำงานหนักขนาดนี้จะเหนื่อยล้าจนผลิตฮอร์โมนได้น้อยลงก็ไม่แปลก
Thyroid Hormone ผอมเกิน อ้วนง่าย ก็ตัวนี้แหละ ไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นตัวสำคัญที่คอยกระตุ้นการสร้างพลังงานของร่างกาย ถ้าใครมีฮอร์โมนนี้เยอะก็จะผอมมาก เพราะร่างกายดึงสารอาหารไปใช้พลังงานได้เยอะมาก แต่ถ้าใครมีฮอร์โมนตัวนี้ต่ำ กินอะไรเข้าไปนิดหน่อยก็อ้วนแล้ว แถมยังทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและไม่มีแรงอีกด้วย ดูแลให้สมดุล : นอกเหนือไปจากการดูแลสุขภาพตามปกติ อย่าลืมตรวจไทรอยด์ทุกครั้งที่ตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้ถือเป็นตัวสำคัญและให้ผลรุนแรง ไม่ว่าจะสูงเกินไปหรือต่ำเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น โดยถ้าสูงเกินก็อาจเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้คุณเหนื่อยง่าย ใจสั่น ชีพจนเต้นเร็ว แต่ถ้าต่ำเกินคุณก็จะอ้วน บวม ฉุ Note : ถ้ารู้สึกตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น รู้สึกปวดตึงต้นคอ เหนื่อยเหมือนนอนไม่พอ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าไทรอยด์ไม่ปกติแล้วก็ได้
Testosterone ฮอร์โมนเพศชาย แต่ผู้หญิงก็มีนะ ! ฮอร์โมนตัวนี้คือฮอร์โมนเพศ ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับคอลลาเจนประเภทที่ 1 เหมือนกับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในผู้ชาย แต่ในผู้หญิงก็มีฮอร์โมนตัวนี้อยู่เหมือนกัน แต่มีน้อยมากในอัตราส่วนที่ห่างกับเอสโตรเจนประมาณ 1,000 เท่า (เอสโตรเจน : เทสโทสเทอโรน = 1,000 : 1) เพราะสมองมนุษย์เราต้องใช้ฮอร์โมนทั้งสองชนิดในการทำงาน ถ้ามีแค่ชนิดในชนิดหนึ่งก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ ดูแลให้สมดุล : อาหารที่ช่วยในเรื่องของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนก็คือพวกธาตุเหล็กและสังกะสี มีอยู่ทั่วไปในพวกเนื้อแดง หอยนางรม (แต่ก็ต้องระวังเรื่องคอเลสเตอรอลด้วยนะ) Note : จริง ๆ แล้วผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นห่วงเรื่องของเทสโทสเทอโรนเท่าไร เพราะเมื่อไรก็ตามที่ร่างกายคุณขาดฮอร์โมนตัวนี้ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า "แอนโดรเจน" ก็จะเปลี่ยนไปเป็นเทสโทสเทอโรนให้เอง
หยุดความเข้าใจผิด ๆ ! อย่าสับสนระหว่าง "ฮอร์โมน" กับ "สารสื่อประสาท" นะจ๊ะ ฮอร์โมนสำคัญ ๆ ที่คุณควรรู้จักมีอยู่แค่ไม่กี่ตัวนี่แหละ ส่วนพวกที่คุณคุ้นชื่อเหลือเกินและเรียกกันติดปากว่าเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง อย่างพวกเอนดอร์ฟิน, อะดรีนาลิน, เซโรโทนิน หรือโดพามีนนั้น เป็นเพียงแค่สารสื่อประสาทที่เปรียบไปก็เหมือนเมสเซนเจอร์คอยนำส่งข้อมูลไป ให้แก่เซลล์ต่าง ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น