เพจ facebook : รังสิตซิตี้ที่นี่ปทุมธานี
![](/images_profiles/heading1.png)
อยู่พอเพียง บริโภคพอดี สู่ความมั่นคงทางอาหาร ‘อิ่มไม่อั้น! หรือการกินอาหารแบบบุฟเฟ่ต์’ สะท้อนเรื่องความไม่มั่นคงทางอาหารได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทุกร้านอาหารที่จัดรายการขายแบบบุฟเฟ่ต์ต้องมีอาหารเหลือทิ้งแต่ละวันในปริมาณที่สูงมาก ขยะเหล่านี้เกิดจากอาหารที่ทางร้านเตรียมเผื่อลูกค้าและอาหารที่ลูกค้ากินเหลือ ![]() ขณะที่อัตราประชากร 1 ต่อ 7 บนโลกต้องประสบกับภาวะอดอยากไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ 3 มื้อต่อวัน เป็นโจทย์ที่น่าคิดให้กับคนในเมืองว่า ‘คุณมีความมั่นคงทางอาหารมากพอๆ กับเงินที่ต้องจ่ายไปหรือไม่’ แต่หากวันใดที่เงินคุณหมดลงหรือไม่มีอาหารให้คุณซื้อ วันนั้นคุณจะกินอะไร... วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น ‘วันอาหารโลก’ เพื่อให้ตระหนักถึงความมั่นคงทางอาหารซึ่งเป็นปัญหาเรื่องปากท้องของคนทั้งโลก โดยมีประเด็นหลักๆ 2 ประเด็นที่มักถูกกล่าวถึงในวันนี้ คือ ความไม่ปลอดภัยในอาหาร และสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่ไม่เท่าเทียม อย่างไรก็ตามเมื่ออาหารถูกจับมาผูกกับธุรกิจจึงยากที่จะควบคุม หากแต่สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคและปลุกจิตสำนึกในการสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยการเริ่มต้นจากตัวเราเองเป็นอันดับแรก ![]() อุตสาหกรรมอาหาร เปลี่ยนวัฒนธรรมการกิน ชูเกียรติ โกแมน เกษตรกรรุ่นใหม่จากโครงการสวนผักคนเมือง ผู้เปลี่ยนตัวเองจากนักบริโภคเป็นนักผลิตลดการบริโภคและพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น ให้ความเห็นเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารแบบคนเมืองว่า สมัยก่อนการกินอาหารนอกจากจะทำให้ท้องอิ่มแล้ว ยังมีเรื่องของคุณค่าทางอาหารที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง รวมไปถึงสุนทรียภาพที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น ความสวยงาม ความอร่อย ความอิ่มเอมใจบนโต๊ะอาหาร เป็นต้น แต่ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งนำมาซึ่งวัฒนธรรมการกินด่วน หรือฟาสต์ฟู้ด กล่าวง่ายๆ คือขอเพียงแค่รสชาติถูกปากและอิ่มท้อง ส่วนเรื่องเวลาไม่ต้องพูดถึงเพราะต้องรีบไปทำกิจกรรมอื่นต่อ อาหารแช่แข็งที่เรากินจึงเสมือนเป็นการสื่อสารทางเดียวด้วยคำโฆษณาว่าอาหารนี้ดี สะดวก ปลอดภัย ซึ่งก็ไม่สามารถรู้ได้ว่ามันผ่านกรรมวิธีในการผลิตมาอย่างไรบ้าง และเมื่อไม่รู้ที่มา ก็จะไม่ตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร ซึ่งส่งผลถึง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ของทุกชีวิต “จะเห็นได้ว่าความมั่นคงทางอาหารไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเราเลย ทว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตเกือบจะตลอดเวลา วันนี้ถ้าคุณรู้จักเริ่มผลิตอาหารให้ตัวเองไม่ว่าคุณจะอยู่ในสังคมเมืองที่มีพื้นที่จำกัดแต่ก็สามารถปลูกผักกินเองได้ เพราะฉะนั้นความมั่นคงทางอาหารควรจะสร้างด้วยตัวของเราเอง” พี่ชูเกียรติ กล่าว ![]() วิถีเกษตรอินทรีย์ ตัวเลือกที่ดีในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร พี่ชูเกียรติ กล่าวต่อว่า ‘เกษตรอินทรีย์’ คือการทำเกษตรปลอดสารพิษรูปแบบหนึ่งที่เริ่มจากการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเข้าใจธรรมชาติ ได้ผลผลิตออกมาอย่างไรก็กินอย่างนั้น หรือในแง่ของเกษตรกร อาจจะมองถึงเรื่องของการลดต้นทุนในการผลิต เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเมล็ดพันธุ์ราคาแพง เป็นการทำเกษตรแบบพึ่งตัวเอง โดยนำของที่เหลือใช้ในบ้านหรือในชุมชนมาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งถึงแม้ว่าปริมาณผลผลิตจะน้อยลงแต่สามารถลดต้นทุนและได้คุณค่าของอาหารอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะวันนี้ น่ายินดีอย่างยิ่งที่คนเมืองหันมาทำเกษตรอินทรีย์ผลิตอาหารกินเอง โดยใช้ขยะในครัวเรือนที่เป็นเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักในการปลูกผักในบ้าน ซึ่งเป็นการนำอาหารที่ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์กลับมาสร้างอาหารใหม่ให้ตนเอง เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยตัวเอง รวมถึงได้อาหารที่ปลอดภัยไม่ทำลายสุขภาพโดยที่ไม่ต้องใช้เงินมากมายแล้วยังลดปริมาณขยะได้อีกด้วย เริ่มต้น...สร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยตนเองแบบคนเมือง เกษตรกรรุ่นใหม่จากโครงการสวนผักคนเมือง แนะนำไว้อย่างน่าสนใจว่า ในฐานะคนเมือง ถ้าคุณพร้อมที่จะเป็นผู้ผลิตอาหารเองก็ควรจะเริ่มจากการหัดปลูกผักที่เราชอบหรือที่เราบริโภคบ่อยๆ ไว้กิน ซึ่งสามารถหาข้อมูลวิธีการปลูกผักกินเองในบ้านหรือคอนโดได้จากหนังสือและเว็บไซต์ รวมถึงสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันผ่านสังคมออนไลน์ ปัจจุบันมีหลายช่องทางให้ค้นหามากมาย "แต่หากคุณยังไม่พร้อมที่จะทำการเพาะปลูก หรือเป็นผู้ผลิตอาหารเอง แนะนำว่าควรจะเริ่มต้นด้วยการสรรหาอาหาร ในที่นี้หมายถึงพยายามเลือกกินอาหารที่สามารถหาซื้อได้ในชุมชนท้องถิ่น ให้รู้ที่มาของอาหารนั้น เพื่อจะได้รู้ว่าอาหารปลอดภัยและดีสำหรับเรา เมื่อมีผู้ซื้อเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตก็มีรายได้ และเมื่อมีคนที่สนใจอาหารปลอดภัยมากขึ้น ก็จะกลายเป็นวิถีเกษตรอินทรีย์ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้ให้กับประเทศต่อไป" ![]() อยู่อย่างพอเพียง บริโภคอย่างพอดี สู่ความมั่นคงทางอาหาร หากกล่าวถึงวิถีการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงซึ่งควรจะเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตของคนไทย แต่สภาพแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอกใดๆ ก็ตาม หลายคนกลับมองว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ พี่ชูเกียรติ ให้คำแนะนำว่า สำหรับคนเมืองแล้วควรพยายามหาจุดสมดุลของความพอดีในชีวิตให้เจอ อะไรที่สมควรจะต้องทำด้วยตนเองก็ควรที่จะหันกลับมาทำ อะไรที่ยังต้องซื้ออยู่ก็ควรซื้ออย่างมีสติ แม้แต่เรื่องการกินก็ควรกินอย่างมีสติไม่ฟุ่มเฟือย รวมไปถึงการบริโภคอย่างพอดีที่ไม่ใช่แค่การบริโภคอาหารแต่หมายถึงการบริโภคทรัพยากรทุกอย่างในชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ชีวิตพอเพียง “เมื่อเรามีความพอกับทุกเรื่องในการดำรงชีวิตก็จะไม่มีการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย อาหารที่เหลือทิ้งจำนวนมากก็จะถูกเฉลี่ยให้คนอื่นที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารนั้นได้ เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ทำได้เลยทันที ส่งผลดีกับตัวเราและผู้อื่น” ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสวนผักคนเมือง ฝากข้อคิดทิ้งท้าย
เรื่องโดย ฐาปน คำทา Team Content www.thaihealth.or.th |