หลักออกเจอย่างถูกวิธี ทานอาหารอย่างไร ดีต่อสุขภาพ (สสส.)
เทศกาล กินเจเป็นช่วงเวลา 9 วัน 9 คืน แห่งการชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ สร้างบุญกุศล รักษาศีล ด้วยการงดกินเนื้อสัตว์ แต่เมื่อสิ้นสุดเทศกาลกินเจ ทุกคนต่างก็หันกลับมากินอาหารกันตามปกติ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกกินอาหารให้ถูกวิธีหลังหมดเทศกาลกินเจ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวและเกิดความสมดุล
"การ ออกเจ มักจะออกผิดกันเยอะ อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ การออกเจ ก็เหมือนกับการเข้าเจ ต้องทำให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับสภาพการรับเนื้อสัตว์อย่างค่อยเป็นค่อยไป 9 วันของการกินเจ ร่างกายเริ่มจะปรับตัวได้ โดยเฉพาะ 2 วันสุดท้าย เมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวได้กับการไม่กินเนื้อสัตว์ เริ่มคุ้นชินกับการกินผักและผลไม้ เมื่อออกเจแล้วกลับมากินเนื้อสัตว์ทันที หรือที่เรียกว่า หักดิบ อาจจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ได้" อาจารย์สง่า อธิบาย
อาจารย์สง่า พูดถึงการออกเจวันแรกว่า ต้องค่อย ๆ ผ่อนคลายร่างกาย โดยเริ่มจากการดื่มนม กินไข่ และปลาเป็นหลัก อย่า เพิ่งแตะต้องอาหารประเภทเนื้อ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อชนิดไหนก็ตาม ควรดื่มนม กินไข่และปลา ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 วัน เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับสภาพ พยายามกินอาหารอ่อน ๆ อย่ากินอาหารรสจัดทันที สำหรับอาหารอ่อน ๆ ก็เป็นพวกอาหารรสจืด ไม่เป็นอาหารที่เผ็ดจัด หวานจัด มันจัด เมื่อเข้าสู่วันที่ 4 จึงค่อยเริ่มกินเนื้อสัตว์ แต่กินในปริมาณที่น้อย ๆ ก่อน สำหรับ นม ปลา และไข่ กินในปริมาณที่เยอะได้ และควรกินอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ด้วย
อาจารย์สง่า เน้นย้ำสำหรับคนที่ดื่มนม และงดดื่มนมในช่วงเทศกาลกินเจว่า เมื่อออกเจแล้วกลับมาดื่ม อาจเกิดอาการท้องอืดได้ เนื่อง จากร่างกายอาจไม่ได้ผลิตน้ำย่อยย่อยนม ที่เรียกว่า แลกเทส จะทำให้นมไม่ย่อย ทำให้มีเชื้อจุลินทรีย์หมักอยู่ในท้อง และทำให้เกิดแก๊สในท้องได้ จึงไม่ควรดื่มนมขณะที่ท้องว่าง ควรดื่มหลังอาหารมื้อหลัก และค่อย ๆ ดื่มทีละนิด ไม่ควรดื่มครั้งเดียวหมด หรือจะดื่มนมจืดอุ่น ๆ ก็จะดี ซึ่งหลังจากนี้ไม่กี่วัน ร่างกายก็จะปรับสภาพเป็นปกติ
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการยังส่งเสริมการปฏิบัติตนในช่วงกินเจ ซึ่งเป็นเรื่องดีและควรปฏิบัติต่อไปว่า การถือศีลในช่วงกินเจ 9 วัน นับว่าเป็นเรื่องดี อย่างเช่น เราไม่กล่าวร้ายผู้อื่น ไม่พูดโกหก ไม่พูดจาหยาบคาย ทำความดี มองโลกในแง่บวก อยากให้ทุกคนทำต่อไปเพราะเป็นเรื่องที่ดี ไม่จำเป็นต้องเลิก ส่วนการกินผักในช่วงกินเจ หลายคนรู้สึกว่า กินผักแล้วรู้สึกโล่ง ขับถ่ายสะดวก ร่างกายแข็งแรง ก็เป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ แต่ควรกินผักให้หลากหลาย สะอาด และควรกินผักพื้นบ้านและผักตามฤดูกาล
นอกจากนี้ หลาย ๆ คน ใช้ช่วงเทศกาลกินเจ ริเริ่มงดการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะใบยาสูบ เป็นหนึ่งใน 5 ข้อของการละเว้นการกินเจ เมื่อออกเจแล้วก็ควรนำสิ่งที่ดี ๆ ที่ปฏิบัติในช่วงเทศกาลกินเจ นำมาปฏิบัติต่อไป
ผู้ เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ยังแนะนำการลดน้ำหนักหลังสิ้นสุดการกินเจไว้ด้วยว่า คนส่วนมากมักน้ำหนักเพิ่มช่วงกินเจ ซึ่งเกิดจากการกินแป้งเยอะ กินจุบกินจิบ และกินอาหารที่มัน อย่างทอดและผัด ทำให้น้ำหนักขึ้นได้ สำหรับวิธีการควบคุมน้ำหนัก มี 3 วิธีด้วยกันคือ
1. กินผักและผลไม้ เพราะผักผลไม้มีไฟเบอร์ไปดูดซับเอาไขมันและน้ำตาลออกจากร่างกายได้
2. ลดการกินแป้ง รวมถึงขนมปัง ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ข้าวโพด เผือก มัน
3. ต้องหันกลับมากินอาหารที่ไม่มันมาก ประเภท ต้ม ย่าง ยำ อบ นึ่ง อย่างเช่น อาหารพื้นบ้านพวกแกงเลียง แกงป่า แกงอ่อม แกงแค ที่ไม่ใส่หมู ไม่ใส่น้ำมัน ก็จะลดน้ำหนักได้ และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน ไม่กินจุบกินจิบ หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นกินผลไม้แทนขนมหวาน
อาจารย์ สง่า แนะนำเพิ่มเติมว่า ควรกินอาหารมื้อเช้า ๆ ในปริมาณมาก กินมื้อเที่ยงให้พอดีและมื้อเย็นควรกินให้น้อย และห่างจากเวลาเข้านอน 3-4 ชั่วโมง และอย่าลืมออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายเป็นการเผาผลาญไขมันให้ออกจากร่างกาย ถ้าจะลดน้ำหนัก หลังจากการออกเจ โดยควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียวจะลดน้ำหนักได้เพียง 9 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าออกกำลังกายอย่างเดียวไม่ควบคุมอาหารเลยลดน้ำหนักได้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าออกกำลังกายและควบคุมอาหารควบคู่ไปด้วย 90 เปอร์เซ็นต์
สำหรับใครอยากกินเจ ถึงแม้จะสิ้นสุดเทศกาลกินเจไปแล้วหรือจะเปลี่ยนแปลงการกินเป็นรูปแบบ มังสวิรัติก็สามารถทำได้ โดยมังสวิรัติ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือแบบเคร่งครัด ไม่กินนม ไข่และปลา ประเภทสองสามารถกินนมได้ ไม่กินไข่และปลา ส่วนประเภท ที่สาม กินนม และไข่ได้ ด้านนักโภชนาการมักแนะนำให้กินมังสวิรัติประเภทที่สาม เพราะในนมและไข่มีวิตามิน แร่ธาตุ หลายชนิดที่ดีต่อสุขภาพ ถ้าใครจะกิน เจ หรือมังสวิรัติต้องมั่นใจว่าอาหารที่กินมีสารอาหารอย่างครบถ้วน และต้องมีความรู้และศึกษาให้ดี เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน