เพจ facebook : รังสิตซิตี้ที่นี่ปทุมธานี
![](/images_profiles/heading1.png)
หยุดเอดส์! ต้องมองเรื่อง 'เพศ' อย่างเข้าใจ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการมี 'เพศสัมพันธ์' ที่ไม่ปลอดภัย คือสาเหตุอันดับต้นๆ ของปัญหาสังคมระดับโลก ทั้งปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อเอดส์ เป็นต้น จึงเป็นที่มาของการกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็น ‘วันเอดส์โลก’ โดย องค์การอนามัยโลก (WHO) รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันและรักษา เพื่อยับยั้งความรุนแรงของโรคนี้ ![]() แต่ทว่าการจะแก้ปัญหาใดๆ ให้สัมฤทธิ์ผลได้นั้นควรจะมุ่งเป้าไปที่จุดกำเนิดของปัญหา ซึ่งก็คือเรื่องเพศสัมพันธ์ ที่ต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังต้องทำความเข้าใจใหม่และปรับทัศนะให้เปิดกว้าง โดยเฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เข้าใจเพศสัมพันธ์ เรื่องธรรมชาติ... พี่ใหม่-อุษาสินี ริ้วทอง หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ทางสังคม องค์การแพธ บอกถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นผ่านมุมมองของตน ว่า เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของช่วงวัย ซึ่งอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์โดยที่ธรรมชาติของร่างกายก็จะมีการตอบสนองในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกทางเพศ แต่ด้วยบริบทสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไปทำให้วัยรุ่นมีการเรียนรู้เรื่องเพศและก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น แม้แต่ในเชิงวัฒนธรรมเอง การปลูกฝัง “ค่านิยมรักนวลสงวนตัว” ก็ไม่ได้เคร่งครัดเหมือนสมัยก่อน ซึ่งเป็นผลสะท้อนในเชิง “เศรษฐกิจ” ที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องแยกกันทำมาหากินจนขาดการเอาใจใส่และพูดคุยกัน “สิ่งที่ทำให้เป็นปัญหาก็คือ การที่เราไม่มีการเตรียมความพร้อมในการสร้างระบบการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเตรียมตัวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ให้กับเขาก่อน ทำให้เขาต้องเผชิญกับการเรียนรู้เรื่องเพศด้วยตนเองเท่าที่เขาจะทำได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้เขาไม่กล้าที่จะแสดงออกในเรื่องนี้ เช่น ทุกครั้งที่ซื้อถุงยางอนามัยก็จะถูกจับจ้องด้วยสายตาของพนักงานขาย หรือกระทั่งผู้ใหญ่เองก็มักจะไม่สบายใจที่จะคุยเรื่องเพศกับวัยรุ่นอย่างเปิดใจ แต่จะใช้วิธีห้ามด้วยคำว่าอย่ามี...! จึงทำให้เกิดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยในวัยรุ่น นำไปสู่โอกาสของการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรและติดเชื้อเอดส์ในที่สุด” ผู้ใหญ่ ต้องเปิดใจเรื่องเพศกับวัยรุ่น... พี่ใหม่ บอกว่า สำหรับเรื่องเพศศึกษาในวัยรุ่นนั้น เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้วโอกาสที่จะมีความรักนั้นก็เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ต้องเท่าทันกับสิ่งที่สังคมบอกด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ต้องหนักแน่นและมั่นใจให้มากๆ ในการที่จะต่อรองกับทั้งตัวเองและคนรักก่อนจะตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ขณะที่กระแสสังคมบอกว่า อย่ามี…! ทั้งนี้ไม่ได้สนับสนุนให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติของวัยเจริญพันธุ์ “สำคัญคือ 'การป้องกัน' ที่ทั้งหญิงและชายต้องทำ เพราะนั่นหมายถึงการแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ชายควรปรับทัศนคติและมีบทบาทมากขึ้นในความรับผิดชอบ โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งซึ่งเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์และติดเชื้อเอดส์ได้ดีที่สุดในขณะนี้” มีเสียงสะท้อนที่น่าสนใจจากกลุ่มน้องๆ เยาวชนรณรงค์การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและป้องกันเอดส์ พวกเขาบอกว่ามีอยู่ข้อหนึ่งซึ่งหากสามารถทำให้เกิดผลสำเร็จได้แล้ว เรื่องอื่นก็ไม่ต้องใช้พลังมากมายในการรณรงค์ ซึ่งก็คือ‘ผู้ใหญ่ต้องยอมรับเรื่องเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้’ เพื่อนำไปสู่การสร้างการเตรียมพร้อมเรื่องเพศให้กับเด็กก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในทุกระบบ ตั้งแต่ระดับปฐมศึกษาเป็นต้นไป โดยไม่มุ่งเน้นที่การห้ามหรือสั่งสอนให้กลัว แต่ขอให้เปิดกว้างและยอมรับธรรมชาติของวัยรุ่น ตนจึงอยากจะส่งเสียงถึงผู้ใหญ่ในเรื่องนี้ด้วยเป็นสำคัญ
มองเพศศึกษา ให้เป็นวิถี... อยากให้มองเรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่องของวิถีชีวิต หากมองอย่างเปิดใจแล้วจะเห็นว่ามันคือส่วนหนึ่งของชีวิตและเกี่ยวข้องกับเราตั้งแต่เกิดจนตาย ฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องเพศแต่ละวัยก็จะแตกต่างกันไป แต่จะทำอย่างไรให้เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องน่ากลัวและส่งผลเป็นพลังเชิงบวกสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ขึ้นมาได้ สุดท้ายเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ‘อย่ามองเรื่องเพศเป็นเรื่องพลาด’ และควรจะอยู่กับมันอย่างเข้าใจไปตลอดชีวิต แม้ผิดพลาดก็ยังมีทางออกให้กับมันเสมอ “...เรื่องเพศเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้และต้องเรียนรู้ โดยต้องไม่ปล่อยให้เป็นการเรียนรู้ตามชะตากรรม...” หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ทางสังคมองค์การแพธ ให้ข้อคิดทิ้งท้าย มองอย่างเข้าใจก็จะเกิดการเรียนรู้ เมื่อรู้ก็จะไม่นำตัวเองเข้าไปสู่ความเสี่ยง ซึ่งเป็นวิธีตัดต้นเหตุของปัญหา สู่แนวทางการหยุดเอดส์ในวัยรุ่นอย่างเข้าใจค่ะ
เรื่องโดย ฐาปน คำทา Team Content www.thaihealth.or.th |