ตลอดระยะเวลาที่มีฝนตกชุกติดต่อกัน นอกจากจะส่งผลให้ประชาชนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้หวัด และโรคอื่นๆ แล้ว 'โรคน้ำกัดเท้า' และผื่นภูมิแพ้ ยังเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงเวลานี้ด้วย
โดยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขออกมาขอความร่วมมือให้ประชาชนเร่งลดความสกปรกของน้ำท่วมขัง ภายหลังการเก็บสถิติความเจ็บป่วยของประชาชนในช่วงน้ำท่วม นับจากวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา พบว่า 'โรคน้ำกัดเท้า' ครองแชมป์โรคยอดฮิตที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในขณะนี้
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า ในแต่ละฤดูกาล มักจะพบปัญหาของโรคผิวหนังที่แตกต่างกัน สำหรับในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกบ่อย และมีปัญหาน้ำเจิ่งนองตามท้องถนน รวมถึงปัญหาน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ด้วยปัญหาดังกล่าว ก็ย่อมจะส่งผลต่อสุขภาพผิวหนังได้หลายกรณี ทั้งลักษณะของการเป็นผื่นภูมิแพ้ หรือผื่นแดงซึ่งเกิดจากความเปียกชื้นและรักษาความสะอาดไม่ถูกต้อง หากแต่ที่เด่นชัดและพบบ่อยที่สุดก็คือ อาการของโรคน้ำกัดเท้า
เข้าใจ “น้ำกัดเท้า” หายไว
นพ.จินดา อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามปกติอาการของน้ำกัดเท้า เกิดจากการแช่น้ำหรือเดินย่ำน้ำนานเกินไปจนเป็นเหตุให้ผิวหนังเปื่อย ยุ่ย และเกิดอาการระคายเคือง ในกรณีที่ไม่มีอาการอักเสบของผิวหนัง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดให้แห้งสนิท จากนั้นทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
“แต่ถ้าแช่หรือเดินย่ำน้ำนานเกินไปจนเกิดอาการอักเสบระคายเคือง ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องทายาเพื่อลดอาการระคายเคือง โดยการรักษาทั่วไป จะเป็นการใช้ยาในกลุ่มของสเตียรอยด์ ที่จะช่วยให้ผิวหนังของคนไข้ดีขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยก่อนว่า เป็นลักษณะอาการของน้ำกัดเท้าจริงหรือไม่ เพราะหากผู้ป่วยเข้าใจผิดว่า เป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อรา และซื้อยามาทาเอง ก็จะทำให้อาการของโรคลุกลามมากขึ้น เนื่องจากยาแก้เชื้อราบางตัวมีฤทธิ์กัดลอกผิว ซึ่งจะทำให้อาการของโรคน้ำกัดเท้ามีความรุนแรงมากขึ้นด้วย”
ทั้งนี้ อาการของน้ำกัดเท้าจากการเดินย่ำน้ำ หรือแช่น้ำสกปรกเป็นเวลานานๆ สามารถติดเชื้อเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ ฉะนั้นการรักษาที่ดีที่สุด จึงควรผ่านการวินิจฉัยอาการของโรคจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
“จริงๆ แล้วโรคน้ำกัดเท้าไม่อันตราย หากรู้จักดูแลตนเองอย่างถูกวิธีว่า เมื่อเดินผ่านน้ำท่วมขัง ต้องรู้จักล้างเท้าให้สะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง รวมถึงไม่กลับไปใส่รองเท้าในขณะที่ยังเปียกชื้น หากไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นน้ำกัดเท้าชนิดใด ก็ควรไปพบแพทย์ เพราะอาการของน้ำกัดเท้าที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ต้องใช้ยาในกลุ่มของสเตียรอยด์บวกยาต้านแบคทีเรีย ส่วนอาการของน้ำกัดเท้าที่เกิดจากการติดเชื้อรา ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการให้ยาทาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน” คุณหมอผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังกล่าว
ผื่นภูมิแพ้ ก็แก้ไขได้
นอกจากนี้ ในช่วงที่ฤดูกาลกำลังจะผลัดเปลี่ยน ผิวหนังต้องเจอทั้งกับแดดร้อน ความเปียกชื้น และความเย็นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย “ผื่นภูมิแพ้” ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนต้องพบเจอ โอกาสนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังให้คำแนะนำต่อไปอีกว่า ควรดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นเป็นพิเศษ ผิวจะได้มีสุขภาพดีพร้อมรับมือกับทุกสภาพอากาศ ดังนี้
1.การอาบน้ำ ควรอาบน้ำในอุณหภูมิปกติ อุ่นนิดหน่อยได้ แต่ควรระวังอย่าให้เป็นน้ำที่อุ่นจัดหรือร้อนเกินไป เพราะการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนมากๆ จะทำให้ผิวแห้ง เมื่อผิวแห้งก็จะทำให้เกิดอาการคัน และผิวหนังอักเสบได้ง่ายมากขึ้น
2.การใช้สบู่ ควรใช้สบู่ที่มีค่า PH เป็นกลาง ซึ่งเหมาะกับผิวของคนที่เป็นภูมิแพ้มากที่สุด ไม่ควรใช้ที่เป็นด่างมากเกินไป ที่สำคัญคือไม่ควรฟอกสบู่ หรือแช่น้ำนานๆ เพราะจะยิ่งทำให้ผิวแห้ง
3.หลังอาบน้ำควรทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำ เพราะขณะอาบน้ำ ผิวจะสูญเสียไขมันที่เคลือบเซลล์ผิว การทาครีมบำรุงเป็นประจำ จึงเป็นสิ่งช่วยเพิ่มเติมความชุ่มชื้นให้กับผิว
“หากดูแลแบบนี้ได้เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ปล่อยให้ผิวแห้ง โอกาสที่ผื่นแพ้จะกำเริบก็จะมีน้อยลง แต่หากมีผื่นแพ้แดงคันขึ้นมา ก็สามารถกินยา หรือทายาที่มีอยู่เดิมได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว” คุณหมอผิวหนังกล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th